(ขั้นตอน)ขายคอนโดที่ยังไม่ผ่อนไม่หมด ด้วยตนเอง (แบบละเอียด)

แชร์ประสบการณ์ขายคอนโดที่ยังไม่ผ่อนไม่หมด (ขั้นตอนแบบละเอียด)

หากใครที่กำลังถือครองคอนโดมิเนียมหรืออสังหาริมทรัพย์อยู่ และต้องการขายออกเพื่อปลดภาระหนี้สินก็ดี เพื่อการเก็งกำไรก็ดี

ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าตนเองเริ่มถูกทางไหม การใช้ Agent อาจช่วยผ่อนแรงได้ก็จริงอยู่ แต่ก็มาพร้อมค่าใช้จ่าย หรือ commission ที่เราเรียกกันติดปากนั่นเอง

หลายคนที่กำลังต้องการจะขายคอนโด อาจจะกังวลเรื่องขั้นตอนยุ่งยากต่างๆ แต่จริงๆแล้ว หากคุณลองทำไปตามสเต็ปขั้นตอนเหล่านี้ รับรองว่าการขายคอนโดเองไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถแน่นอน

(ขั้นตอน)ขายคอนโดที่ยังไม่ผ่อนไม่หมด ด้วยตนเอง (แบบละเอียด)

(1) การประกาศขายและช่องทางที่เป็นประโยชน์

ตามความเข้าใจของผู้เขียน Agent หรือนายหน้าขายคอนโด อาจจะแบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ

1) Agent แบบสัญญาเปิด ปัจจุบันเป็นรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก Agent ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบฟรีแลนซ์ที่รับงานมาและมีทีมงานช่วยปิดการขายให้ลูกค้าโดยเสนอการทำสัญญาเปิดกับเจ้าของหรือผู้ถือครองอสังหาฯนั้น

“สัญญาเปิด คืออะไร” คำตอบคือ สัญญาแบบไม่ผูกมัด จะมีการจ่ายคอมมิชชั่นในกรณีที่ Agent เจ้านั้นเป็นผู้ปิดการขายได้เท่านั้น หลายกรณีAgent 2-3 รายก็จะทำงานร่วมกัน และเมื่อปิดการขายได้ก็จะแบ่งค่าคอมมิชชั่นกันนั่นเอง ซึ่งAgent หนึ่งรายจะพยายามถือสัญญาเปิด กับลูกค้าหลายๆรายให้มากที่สุด เพื่อโอกาสในการขายที่มากขึ้น เมื่อมีผู้ซื้อต้องการซื้อ ก็สามารถเสนอได้ตรงความต้องการทั้งในแง่โลเคชั่น ราคา และองค์ประกอบอื่นๆ

  • ข้อดี คือ ผู้ขายจะไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น หากการปิดดีลไม่ได้ผ่าน Agent รายนั้น
  • ข้อเสีย คือ เนื่องจาก Agent ถือสัญญาเปิดไว้ในมือค่อนข้างมาก Agent บางรายอาจจะเลือกทำการตลาดให้กับคอนโดที่มี potential ที่มีโอกาสขายได้สูงกว่า ดังนั้น ในฐานะผู้ขาย คุณอาจจะลองทำสัญญาเปิดกับAgent เหล่านี้หลายรายเช่นกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินทรัพย์ของตอน แต่ต้องมั่นใจว่าในสัญญา คุณจะไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นในกรณีที่คอนโดปิดดีล โดยไม่ผ่าน Agent นั้น คำศัพท์ที่  Agent เหล่านี้ใช้ในการขอทำสัญญาคือ “ขออนุญาตทำการตลาด”

2) Agent แบบสัญญาปิด เป็นลักษณะการทำสัญญากับตัวแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบบริษัทที่ดำเนินการด้านนี้โดยเฉพาะ โดยลักษณะสัญญาเมื่อเราตัดสินเลือกใช้บริการกับบริษัทแบบนี้ ในสัญญาจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าเราไม่สามารถใช้บริการตัวแทนอื่นพร้อมกันได้ หรือ หากคอนโดของเราถูกขายได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านตัวแทนบริษัทนี้หรือไม่ เจ้าของคอนโดจำเป็นต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับบริษัทด้วยนั่นเอง

  • ข้อดี คือ การใช้บริการบริษัทที่่มีความเชื่อถือได้ ช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าบริษัทจะพยายามปิดการขายให้กับสินทรัพย์ของคุณ
  • ข้อเสีย คือ สัญญาผูกมัด และมีเงื่อนไข

ส่วนตัวผู้เขียนเอง ผู้เขียนเคยถือสัญญาเปิดกับ Agent 2-3 ราย ควบคู่ไปกับการประกาศขายเอง ผ่านฟรีเว็บไซต์ และ ช่องทาง Facebook , Youtube

แต่ในท้ายที่สุด ปิดขายคอนโด ได้ผ่านช่องทางที่ลูกค้าติดต่อมาเองโดยตรงผ่านการโพสต์ขายเองในฟรีเว็บต่างๆ นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายหรือค่าคอมมิชชั่น ในการขายเลยแม้แต่น้อย รวมระยะเวลาในการถือครองคอนโด 4 ปี (จนถึงวันไถ่ถอนโอนกรรมสิทธิ์) และรวมระยะเวลาในการประกาศขายจนจบกระบวนการรวมเกือบๆ 1 ปี

 

แนะนำช่องทางในการประกาศขายเองสำหรับเจ้าของ โดยไม่เสียค่าใช้

Website Facebook Youtube
DDproperty CONDO EXCHANGE CENTER น่าจะเป็น เพจที่มีฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนการซื้อขายคอนโด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ฟรีแลนซ์ ที่ใหญ่ที่สุดเพจหนึ่ง โดยปัจจุบันมีฐานผู้เข้าร่วม 136K คน การทำวิดีโอหรือรูปภาพสวยๆ ของบรรยากาศภายในห้องแบบง่ายๆ และPublic post ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้

*จำไว้ว่า การถ่ายรูปให้ออกมาดี ช่วยดึงความสนใจ Impressionในตัวสินทรัพย์ได้เยอะ

pantipmarket
property2share.com
teedin108.com
thaihometown
Hipflat
Kaidee.com
TERRABKK

 

เมื่อผ่านขั้นตอนการลงประกาศขาย ซึ่งหากคุณต้องการขายสินทรัพย์ได้เร็ว จำเป็นต้องมีความขยันในการโพสต์ข้อมูลในฟรีเว็บต่างๆ และคอยอัพเดทประกาศอยู่เสมอ

ในกรณีของ Condo exchange center ในแต่ละวันจะมีทั้งประกาศขาย ประกาศหาคอนโด จากทั้ง owner เองก็ดี หรือ ฟรีแลนซ์ Agent ก็ดี คำแนะนำ คือ คุณควรหมั่นเช็คในเพจให้บ่อย หรือถ้าให้ดี ในช่วงของการประกาศขาย ควรจะตั้ง See first /แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวในเพจ เพื่อไม่ให้พลาดข้อมูลสำคัญๆ ที่อาจจะมีข้อมูลที่ match กับคอนโดที่เราต้องการขายอยู่พอดี ก็เป็นได้

สิ่งสำคัญคือ คือในช่อง 3-6 เดือนแรกของการประกาศขาย อาจจะแทบไม่มีความคืบหน้าหรือผู้สนใจติดต่อมาเลยก็ได้ อย่าเพิ่งท้อและให้คอยอัพเดทข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด

(2) ตกลงซื้อขาย การทำสัญญา และขั้นตอนก่อนการโอนกรรมสิทธิ์

เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้มาได้ และคุณสามารถปิดดีลซื้อขายกับผู้จะซื้อปากเปล่าได้แล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจจนกว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย และมีการวางมัดจำ โดยหลักแล้ว การวางมัดจำอาจอยู่ที่ประมาณ 10% ของราคาจะซื้อจะขายสินทรัพย์ เช่น หากคุณตกลงกันขายคอนโดอยู่ที่ 2 ล้านบาท ก็อาจจะวางมัดจำที่ 2 แสนบาท แต่ในความจริงแล้ว ไม่ค่อยมีการเรียกมัดจำที่ตัวเลขที่สูงขนาดนั้น โดยเฉพาะในกรณีคอนโดมือสองด้วยแล้ว

ดังนั้น คุณในฐานะผู้ขายอาจจะลองคุยตกลงกับผู้จะซื้อเพื่อให้ได้ตัวเลขมัดจำที่เหมาะสมและผู้จะซื้อสามารถจ่ายได้โดยไม่ลำบากเกินไป

 

1) กำหนดวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และวางเงินมัดจำในวันนั้น การเตรียมสัญญาจะซื้อจะขาย ฝ่ายผู้ขายหรือผู้ซื้อเป็นผู้จัดเตรียมก็ได้ทั้งนั้น โดยคุณสามารถดาวน์โหลด >>> สัญญาจะซื้อจะขาย ในเว็บไซต์ และค่อยปรับเปลี่ยนในรายละเอียดที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

คำแนะนำ

  • ควรระบุระยะเวลาในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ตามแต่ตกลงกันที่เห็นสมควร โดยหลักแล้วอยู่ที่ประมาณ 30-60 วัน นับแต่วันที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขาย
  • ควรแนบท้ายในสัญญา ระบุรายละเอียดของสินทรัพย์ ลักษณะในห้องชุด ทั้งของแถม และหากมีความเสียหายควรระบุให้ชัดเจนในสัญญาพร้อมรูป
  • ควรเซ็นชื่อกำกับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ทุกหน้าในสัญญา
  • ในวันทำสัญญาควรนำพยานไปด้วยทั้งสองฝ่ายๆละหนึ่งคน

2) หลังจากนั้นในฝ่ายผู้ขายก็เพียงต้องรอทางผู้ซื้อไปดำเนินการกู้ยืมกับทางธนาคาร โดยผู้ซื้อจะใช้สัญญาจะซื้อจะขายในการไปทำเรื่องยื่นกู้กับทางธนาคาร ขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับสังกัดหน่วยงานของผู้ซื้อด้วยว่า มีขั้นตอนในการออกเอกสารรับรองต่างๆนานแค่ไหน ซึ่งผู้ซื้อก็ควรจะเผื่อเวลาไว้ตั้งแต่ตอนทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โดยหลักแล้วขั้นตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ที่จะได้ทราบความคืบหน้าจากผู้ซื้อ

ในกรณีของผู้เขียน ผู้เขียนได้รับแจ้งจากผู้จะซื้อในตอนนั้นว่าทางธนาคารที่เขายื่นกู้ แจ้งผลประเมินขั้นแรกผ่าน 90% ของราคาประเมิน (หลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย 1 เดือนกับ 5 วัน)

อนึ่ง ในกรณีของคอนโดมือสอง ส่วนใหญ่ธนาคารจะประเมินยอดให้กู้อยู่ที่ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน (ไม่ใช่ราคาซื้อขาย)

3) หลังได้รับแจ้งความคืบหน้าจากผู้ซื้อว่ายื่นกู้ผ่าน หลังจากนั้นประมาณ 9 วัน จะมีโทรศัพท์เข้ามานัดหมายเจ้าของคอนโด เพื่อขอเข้าไปประเมินคอนโดจริง ล่วงหน้า 1 วัน

คำแนะนำ

ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ภาวนาให้ยอดประเมินได้สูงกว่าราคาซื้อขายคอนโด เพื่อให้ครอบคลุมราคาซื้อขายที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นหากในวันเข้าประเมิน ควรพยายามให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าประเมิน

ซึ่งการประเมิน ทางธนาคารจะให้บริษัทที่รับงานประเมินโดยเฉพาะในการเข้าประเมินหน้างาน(คอนโด) โดยมีหลักการประเมินในหลายด้าน ทั้งใช้ราคากลางของราคาห้องชุดในย่านนั้น สภาพแวดล้อม และอื่นๆเป็นตัวประเมินราคา

 

4) หลังจากการเข้าประเมิน 2 วัน ทางผู้จะซื้อติดต่อแจ้งว่าทางธนาคารที่เขาติดต่อขอยื่นกู้ (ในที่นี้ขอเรียกกว่า ธนาคาร A) อนุมัติยอดประเมินแล้ว พร้อมแจ้งยอดที่ทางธนาคารอนุมัติให้กู้ได้

และให้ทางเรา/ ผู้ขายไปติดต่อแจ้งธนาคารที่ติดจำนองห้องชุด (ในที่นี้ขอเรียกว่า ธนาคาร B) อยู่

 

5) เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ซื้อมาแล้ว ควรรีบติดต่อ ธนาคาร B โดยเร็ว โดยแจ้งความประสงค์ “ขอไถ่ถอนจำนอง”

จากนั้น ทางธนาคาร B จะใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องไถ่ถอนอยู่ที่ประมาณ 10 วันทำการหลังจากแจ้งไถ่ถอน ในระหว่างนั้น ทางธนาคาร B จะติดต่อกลับมา เพื่อแจ้งยอดเช็คในวันไถ่ถอน และเราก็นำยอด(ดังตัวอย่างตารางข้างล่าง) แจ้งกลับไปยังผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็มีหน้าที่แจ้งทางธนาคาร A ในการออกเช็คนั่นเอง

อนึ่ง บางธนาคารจะมีการดีลกันเองระหว่างธนาคารเรื่องยอดเช็ค ซึ่งในกรณีนั้น ทางผู้ซื้อกับผู้ขายก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร เพียงปล่อยให้ทางธนาคารทั้งสองดำเนินการให้

 

ผู้ซื้อ / ธนาคาร A ยอด(บาท)
ราคาซื้อขายคอนโดที่ตกลงกัน          2,000,000
ราคาประเมินจากธนาคาร A ผ่าน          2,000,000
ยอดกู้ที่ผู้ซื้อได้รับอนุมัติคือ 90% ของราคาประเมิน          1,800,000
ผู้ขาย / ธนาคาร B
ยอดติดจำนองกับธนาคาร B (ยอดที่ยังผ่อนไม่หมด)          1,500,000
กรณีนี้ ธนาคาร A ต้องออกเช็ค 2 ฉบับ
เช็คฉบับแรก เพื่อมอบให้ธนาคาร B ณ วันไถ่ถอน          1,500,000
เช็คฉบับที่สอง ออกเช็คเป็นชื่อผู้ขาย              300,000

คำแนะนำ

ควรจดและแจ้งยอดกับทางธนาคารให้ถูกต้อง เพราะทาง ธนาคาร A จะใช้ยอดนี้เพื่อออกเช็คไถ่ถอนในวันโอนกรรมสิทธิ์ หากตัวเลขผิดพลาดก็จะทำให้เสียเวลาต้องนัดหมายหรือแก้ไขใหม่

 

6) หลังจากนั้นก็ทำการนัดวันจดจำนองโอนกรรมสิทธิ์ที่สะดวกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

 

7) เมื่อได้วันโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ให้เจ้าของห้องชุด ติดต่อขอใบปลอดหนี้จากนิติคอนโด ใบปลอดหนี้ คือ เอกสารรับรองที่แสดงการปลอดยอดหนี้ค้างกับทางนิติฯ เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ และค่าอื่นๆ เป็นต้น

ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับนิติฯแต่ละบริษัท ใช้ระยะเวลาในการออกใบปลอดหนี้ไม่เท่ากัน ดังนั้นควรสอบถามกับทางนิติฯก่อนล่วงหน้าที่จะนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ และใบปลอดหนี้มีผลใช้ได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ออก

8) ก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อและผู้ขายควรมีการนัดหมายเข้าดูสภาพคอนโดที่จะส่งมอบให้ผู้ซื้อ หากติดขัดปัญหาประการใด ควรแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนวันนัดหมายไถ่ถอนโอนกรรมสิทธิ์

 

(3) วันโอนกรรมสิทธิ์

ในกรณีของผู้เขียน รวมเวลาทั้งหมด 20 วันหลังจากติดต่อแจ้งธนาคาร B เรื่องขอไถ่ถอนจำนอง ก็ได้เวลาเป็นไท ปลอดหนี้สักที

ขั้นตอนในวันนั้น อาจจะดูยุ่งยากสักหน่อย แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะจะมีตัวแทนของธนาคารทั้งสองฝั่งคอยดำเนินการเดินเรื่องกับทางเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน

สถานที่นัดหมายในการไปไถ่ถอนและจดจำนอง คือ สำนักงานที่ดินพื้นที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

สิ่งที่คุณต้องทำคือ ไปแสดงตัวและเซ็นเอกสาร และหากมีคู่สมรส ก็จำเป็นต้องพาคู่สมรสไปด้วย

ขั้นตอนในวันนี้ มีดังนี้

  • จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองห้องชุด เพื่อให้ธนาคารที่เป็นผู้รับจำนองคอนโด ไถ่ถอนห้องชุดนั้นๆให้กับผู้ขาย โดยค่าธรรมเนียมกับสำนักงานที่ดินอยู่ที่ 5 บาท
  •  จดทะเบียนขายห้องชุด การจดทะเบียนนี้เป็นการจดทะเบียนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ว่าผู้ขายได้ขายห้องชุดให้กับผู้ซื้อ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการขายห้องชุดนั้นจะอยู่ที่ร้อยละ 2 จากราคาประเมินทุนทรัพย์ของห้องชุด แต่ในกรณีที่ผู้ขายซื้อคอนโดมาไม่ถึง 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีกร้อยละ 3.3 จากราคาประเมิน ถ้าเสียภาษีนี้แล้วไม่ต้องเสียค่าอากร 0.5%
  • จดทะเบียนจำนองห้องชุด การจดทะเบียนนี้จะเป็นการจดทะเบียนระหว่างผู้ซื้อกับธนาคารที่รับจำนอง เป็นขั้นตอนของผู้ซื้ออย่างเดียว

 

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม

  • บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมถ่ายสำเนาไปเผื่อ
  • ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมถ่ายสำเนาไปเผื่อ
  • สัญญาจะซื้อจะขายตัวจริง พร้อมถ่ายสำเนาไปเผื่อ
  • ใบปลอดหนี้ที่ออกโดยนิติฯคอนโด (ออกไม่เกิน 7 วัน) พร้อมถ่ายสำเนาไปเผื่อ
  • โฉนดห้องชุดฉบับจริง (ฉบับจริงอยู่ที่ธนาคาร B)  พร้อมถ่ายสำเนาไปเผื่อ

อนึ่ง เรื่องเอกสารที่ควรนำไปวันไถ่ถอนนั้น สามารถสอบถามได้กับทางเจ้าหน้าที่ธนาคารก่อนวันนัดไถ่ถอน

 

ค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมการโอน ร้อยละ 2 ของราคาประเมิน ผู้ซื้อกับผู้ขายคนละครึ่ง
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3.3 ของราคาประเมิน ผู้ขาย เสียภาษีนี้ในกรณีซื้อคอนโดหรืออสังหาริมทรัพย์มาไม่เกิน 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 1 ปี

ถ้ามีการเสียภาษีนี้แล้วก็ไม่ต้องเสียภาษีอากรร้อย 0.5 อีก

ค่าภาษีอากรร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขาย ผู้ขาย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ขึ้นอยู่กับราคาซื้อขาย ผู้ขาย เพราะเป็นรายได้ของผู้ขาย
ค่าจดจำนอง ผู้ซื้อ

 

(4) หลังโอนกรรมสิทธิ์

หลังการจดทะเบียนไถ่ถอนเรียบร้อย เราจะได้สำเนาโฉนดห้องชุดที่สลักหลังการไถ่ถอนชื่อเราออก และจดทะเบียนเจ้าของกรรมสิทธิ์คนใหม่ และในส่วนของผู้ขายก็ส่งมอบกุญแจและอื่นๆที่จำเป็นแก่เจ้าของคนใหม่ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการไถ่ถอนและถือว่าเราเกือบเป็นไทแก่ตัวแล้ว

แต่ยังเหลือเรื่องให้ไปดำเนินการให้เรียบร้อยอีกสองสามเรื่อง ก็จะเป็นอันจบสิ้นกระบวนการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์คอนโดให้กับผู้ซื้อรายใหม่

1) โอนมิเตอร์ไฟจากชื่อเรา(ผู้โอน) ให้เป็นชื่อคนซื้อใหม่(ผู้รับโอน) ซึ่งสามารถทำได้ภายในวันเดียวกับวันไถ่ถอน โดยไปติดต่อที่ทำการไฟฟ้าที่คุณสะดวก ผู้ขายหรือผู้ซื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถไปเองได้ เพียงแค่ทำหนังสือมอบอำนาจให้อีกฝ่ายไปดำเนินการเรื่องแทน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม

  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับและผู้โอน สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับและผู้โอน(กรณีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านคนละแห่งกัน) สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • สำเนาสัญญาซื้อขายคอนโด ทด13. (กรณีที่มีการซื้อขายคอนโด) สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • ใบเสร็จค่าไฟฟ้าครั้งสุดท้ายของผู้โอน สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • หลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น ( ใบเปลี่ยนชื่อหรือใบเปลี่ยนนามสกุล ถ้ามี) สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • ใบเสร็จรับเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าของผู้โอน (กรณีใบเสร็จสูญหายให้ติดต่อแผนกการเงิน) สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด
  • ในกรณีที่ผู้รับโอนไม่สามารถมาด้วย ผู้โอนจะต้องนำเอกสารเพิ่มเติม คือ หนังสือมอบอำนาจจากผู้รับโอนพร้อมลายเซ็นต์ สำเนามาด้วยอย่างละ 2 ชุด

2) หากคุณมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกับคอนโดที่เพิ่งขายไป ให้ทำเรื่องย้ายออกจากทะเบียนบ้านนั้นและย้ายเข้ายังที่ใหม่แทน กรณีที่ต้องการย้ายกลับเข้าทะเบียนตามภูมิลำเนาเดิม สามารถให้เจ้าบ้าน (บิดาหรือมารดา)แจ้งย้ายเข้าแทนเราได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา (ใช้เพียงเอกสารสำคัญ)

3) เปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนใหม่หากต้องการ เนื่องจากเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่อยู่

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังต้องการขายคอนโดของตนเองอยู่ไม่มากก็น้อย


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

CAPTCHA


Share via
Copy link
Powered by Social Snap