ช่วงนี้เราจะได้ยินคำว่า social distancing บ้าง หรือ new normal บ้างละ ในหลายๆบทวิเคราะห์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการมาของโควิด19 จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เคยเป็นความเคยชินแบบเก่าๆ อาจจะต้องเปลี่ยนไป
และสิ่งที่จะถูกนำมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ แน่นอนว่าคือ “เทคโนโลยี”
technology disruption เป็นคำที่ถูกพูดถึงในแง่ขององค์กรช่วงหลายปีที่ผ่านมา และโควิด อาจจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การดำเนินชีวิตของเราถูก disruption มากขึ้นๆ
เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงคำว่า “แรงงาน” เราก็จะหมายถึง “แรงงานมนุษย์” แต่อนาคตบทบาทของมนุษย์จะลดน้อยลงไหม
หรือ “แรงงานที่ไม่ใช่มนุษย์” จะเข้ามาแทนที่มนุษย์แค่ไหน และงานอะไรบ้างที่จะอาจจะเกิดการแทนที่แรงงานมนุษย์
______________________________________________________________________________________________________
ขณะที่เขียนบล็อกอยู่นี้ ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาควบคู่ไปด้วย เลยจะขอนำตัวอย่างการแทนที่บทบาทมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆในต่างประเทศ ที่ญี่ปุ่นบางซุปเปอร์มาร์เก็ต เริ่มนำใช้ระบบ self-cashier มาใช้
ซึ่งฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ไม่นานมานี้ ห้างชื่อดังได้เริ่มนำระบบที่เรียกว่า レジゴー / rejigo มาเริ่มใช้
ระบบ rejigo ที่ว่านี้ คืออะไร
- เมื่อคุณเดินเข้าไปในร้าน นอกจากคุณจะหยิบตะกร้ารถเข็นแล้ว คุณก็แค่หยิบเครื่อง self-cashier / rejigo ที่หน้าตาเหมือนมือถือเครื่องนึง และติดไปกับรถเข็นเลยมา
- ทีนี้พอเวลาคุณเดินเลือกซื้อของ พอหยิบใส่ตะกร้า ก็เพียงแค่ สแกนบาร์โค้ดสินค้านั้นๆกับเจ้าตัวเครื่องไปพร้อมๆกันเลย
ซึ่งมันง่ายและสะดวกมากๆ ช่วยร่นระยะเวลาไปได้มาก
เพราะอะไร เพราะว่า ในขณะที่คุณเดินเลือกซื้อของนั้น คุณได้สแกนราคาสินค้าของในตะกร้าคุณไปแล้ว นอกจากคุณจะสามารถทราบได้ทันว่าตอนนี้คุณซื้อสินค้าไปเท่าไหร่แล้วบ้าง เกินงบประมาณที่เตรียมไว้หรือไม่แล้วนั้น
- เวลาในการชำระยังสั้นมาก เพียงแค่คุณนำเครื่อง self-cashier / rejigo ตัวนี้ไปสแกนที่หน้าตาเครื่องชำระเงิน คุณก็ไม่ต้องไปเสียเวลาสแกนสินค้าตอนชำระเงินอีก รายการสินค้าทั้งหมดจะขึ้นมาปรากฏที่หน้าจอทันที โดยที่คุณไม่ต้องสแกนซ้ำหรือทำงาน double ซึ่งมันจะเสียเวลา และไม่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่เร่งรีบ
- หลังจากนั้นคุณก็แค่เลือกว่า จะชำระเป็นเงินสด หรือ บัตรเครดิต
และที่สำคัญเหตุการณ์ทั้งหมดคุณไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานร้านค้าเลย
ซึ่งต้องบอกว่า ในญี่ปุ่นเอง ระบบแบบนี้ยังไม่ได้มีในทุกๆที่ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังเคยชินกับการเดินไปหาเคาน์เตอร์ชำระเงินที่มีพนักงานอยู่
rejigo (レジゴー) beta รูปแบบใหม่บนมือถือ
และในปี 2021 rejigo (レジゴー) ได้ถูกพัฒนารูปแบบการใช้งานใหม่ออกมา นั่นคือ ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอพ rejigo (レジゴー) บนมือถือของตนเอง และสามารถใช้งานทั้งการสแกนสินค้า และชำระเงินเหมือนปกติ แต่เป็นการใช้งานผ่านเครื่องมือถือของผู้ใช้งานแต่ละราย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่อง rejigo (レジゴー) ของทางร้านแต่อย่างใด
ซึ่งเป็นการพัฒนาออกมาเพื่อรองรับการใช้งานให้กว้างขึ้นในยุคที่โคโรน่ากำลังระบาดอยู่นี้ เชื่อว่าผู้ใช้งานบางส่วนมีความกังวลเรื่องการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นเชื่อว่าถ้า rejigo (レジゴー) รุ่นเบต้าสามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพแล้ว น่าจะเป็นเรื่องดีต่อผู้ใช้งานไม่น้อย
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ เราได้เห็นอะไร? ผู้เขียนมองว่า เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาแทนที่กิจกรรมพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนบางอย่าง จะค่อยๆเข้ามา และแทนที่บทบาทของมนุษย์ลงไป และนี่อาจจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น
งานที่ไม่ซับซ้อนและเป็นงานที่ต้องดำรงอยู่เพื่อความจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของมนุษย์ มีโอกาสที่จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในลำดับแรกๆ และเร็วกว่างานประเภทอื่น เช่น พนักงานขายในซุปเปอร์มาร์เกตที่ขายสินค้าเพื่อการบริโภค อุปโภค พนักงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมขนส่ง และการรักษาพยาบาล เป็นต้น
ลองนึกภาพง่ายๆ ในช่วงที่หลายๆบริษัท หลายๆตำแหน่งงานสามารถทำงานจากบ้าน หรือ work from home ได้ แต่งานที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตพื้นฐานของมนุษย์เหล่านี้ ไม่สามารถหยุด หรือ work from home ได้ พนักงานในตำแหน่ง cashier ก็ยังต้องมาทำงานตามปกติ
เมื่อประกอบกับวิกฤตโคโรน่าที่เกิดขึ้น มนุษย์จะเริ่มกลัวการต้องปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักมากขึ้น ทำไมเราต้องให้คนอื่นคิดเงินให้เรา ในเมื่อสินค้ามีบาร์โค้ดอยู่แล้ว
ในเมื่อบางกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนเหล่านี้ เราก็สามารถทำเองได้ หรือในอนาคตเราก็แค่เดินซื้อของและเดินออกจากร้านโดยไม่ต้อง self-cashier เลยก็เป็นได้
ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หากอนาคตจะมีบริษัทที่ริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเหล่านี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายนัก แรงงานเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงติดโรค
ในมุมของผู้บริโภคเอง ก็อาจจะรู้สึกปลอดภัยกว่าการติดต่อกับมนุษย์ด้วยกันเองก็เป็นได้
ในแง่ของ social distancing สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาตอบโจทย์มากขึ้น
…แต่ในแง่ของมนุษยธรรม และการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างเราๆ จะยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
Leave a Reply