คุณเคยลอกข้อสอบไหม?

 คุณเคยลอกข้อสอบไหม❓

เชื่อว่าทุกคนคงจะมีคำตอบในใจกันแล้ว

ผู้เขียนไม่ได้จะตัดสินใจเรื่องการลอกข้อสอบ แต่ผู้เขียนจะมาแชร์เรื่องราวหนึ่งในวัยเด็กกับผู้อ่าน

เพื่ออาจจะเป็นข้อคิดเล็กๆน้อยๆกลับไปฝากท่านผู้อ่าน

Cr. https://www.canva.com/

เหตุเกิดในวันเด็ก

สมัยเป็นเด็กเล็กมาก ตอนนั้นอยู่ระดับชั้นอนุบาล 1 หรือ2 ก็จำไม่ค่อยชัดเจนแล้วนั้น

ในขณะที่ความทรงจำในวัยเด็กขนาดนั้นค่อนข้างเลือนลางแต่สิ่งที่ผู้เขียนจำไม่ได้

ไม่เคยลืมเลย คือ ผู้เขียนถูกกล่าวโทษว่า “ลอกข้อสอบเพื่อน” ภาพจำในสมองที่ชัดเจนคือ

วันนั้นเป็นวันสอบอะไรสักอย่าง โต๊ะของนักเรียนอนุบาลแต่ละคนถูกแยกห่างจากกัน จังหวะที่

เด็กคนหนึ่งกำลังนั่งมองเหม่อ ใบหน้าก็หันไปมองด้านข้างเรื่อยๆ แต่สสายตาไม่ได้เพ่งไปที่

กระดาษข้อสอบแต่อย่างใด และคงประจวบกับเป็นระยะโต๊ะของเพื่อนอนุบาลคนอื่น

และแบบนั้นเอง ที่ทำให้เด็กอนุบาลคนนั้นถูกครูตำหนิว่า “ลอกข้อสอบ”

 

ลอกข้อสอบคืออะไร

เด็กอายุเท่านั้นยังไม่เข้าใจความหมายจริงๆเลยด้วยซ้ำว่า ทำไมต้องลอกข้อสอบ เด็กอายุแค่ 4-5ขวบ

มีความจำเป็นอะไรต้องลอกข้อสอบหรือ เพื่อให้ได้เกรดดีๆ มีหน้ามีตาในสังคมหรือ

แค่เพียงเด็กที่ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ว่า เวลาสอบไม่ควรหันมองรอบข้าง ไม่ได้หมายว่า

เด็กคนนั้นจะมีเจตนาลอกข้อสอบแต่อย่างใด และโดยไม่ฟังคำอธิบายของเด็กคนนั้น คุณครูอนุบาลคนนั้น

ได้เรียกพบผู้ปกครองและแจ้งว่า ลูกคุณลอกข้อสอบนะ ภาพความทรงจำหลังจากนั้น ช่างเบาบางเลือนลางนัก

ผู้เขียนเองก็จำไม่ได้แจ่มชัดนัก แต่ผู้เป็นแม่ ไม่ได้ตำหนิหรือว่ากล่าวโทษใดๆเมื่อฟังคำอธิบายที่ออกจากปาก

ลูกตัวน้อยที่ค่อนข้างยังตกใจและสับสนว่าตนเองทำอะไรผิด “หนูแค่มองไปข้างๆ ตาไม่ได้ดูกระดาษ(ข้อสอบของคนอื่น)เลย”

 

เมื่อผลสอบครั้งนั้นออก

กลายเป็นว่า ผลสอบออกมา เด็กที่ถูกกล่าวหาว่าลอกข้อสอบคนนั้น ได้ผลสอบเป็นที่หนึ่งในชั้น ก็ยังไม่วาย มีคำพูดว่า

“ลอกข้อสอบแต่ได้ที่1” ออกจากคุณครูในโรงเรียน

 

และเหตุการณ์ครั้งนั้นติดอยู่ในความทรงจำ

สำหรับเด็กอนุบาลคนนั้น ความทรงจำนี้ มันติดตราและตรึงอยู่ในความทรงจำตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา

และหลังจากเหตุการณ์วันนั้น เด็กคนนั้นก็ได้ให้คำสัญญากับตัวเองว่า “ในชีวิตนี้จะไม่มีทางลอกข้อสอบใครเด็ดขาด”

หลังจากนั้น ในวัยที่เพิ่มขึ้นๆตั้งแต่ระดับชั้น ประถม มัธยม สอบเอ็นทรานส์ หรือ สอบในระดับมหาวิทยาลัย

ที่รอบข้างรายล้อมไปด้วยเพื่อนรอบข้างที่ลอกข้อสอบมากมาย แต่เด็กคนนั้น พร้อมความทรงจำที่ฝังลึก

ยังคงรักษาคำมั่นที่ให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะลอกข้อสอบคนอื่น

เขาคงจะกลัวว่า ถ้าลอกข้อสอบแล้ว จะเป็นดั่งเช่นที่เคยถูกกล่าวหา

 

ขอบคุณเหตุการณ์ในครั้งนั้น

จนถึงวันนี้ เมื่อนึกย้อนกลับไปวันนั้น เด็กคนนั้น รู้สึก “ขอบคุณ” คุณครูท่านนั้นในใจ เพราะคำกล่าวหาวันนั้น

ทำให้ตนเองยึดมั่นที่จะ “ซื่อสัตย์ต่อตนเอง” “ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน” “ซื่อสัตย์ต่อครู” และ “ซื่อสัตย์ต่อสังคม”

และเพราะครูท่านนั้น ไม่ได้มองเรื่องการลอกข้อสอบ “เป็นความธรรมดาอย่างหนึ่ง” หรือ “ใครๆก็ทำกัน”

แต่เพราะท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จนถึงวันนี้ผู้เขียนในวัยที่ผ่านโลกมาพอสมควร กลับมองในมุมที่

ต่างออกไปจากตอนเป็นเด็ก และรู้สึกชื่นชมคุณครูที่กล่าวตักเตือนเมื่อคิดว่านักเรียนทำผิด (แม้ในความเป็นจริง

เด็กคนนั้นไม่ได้ลอกข้อสอบก็ตาม)

 

 

ในขณะที่สังคม อาจจะนำพาสิ่งเร้ารอบข้างมากมาย มาเปลี่ยนแปลงความบริสุทธิ์ในจิตใจในวัยเด็ก

 หากวัยเด็ก เริ่มต้นด้วยการทุจริตข้อสอบ นั่นก็คือ การทุจริตต่อตนเอง แล้ว ถ้าเริ่มต้นวัยเด็กด้วยการทุจริต

 แล้วอนาคตที่เด็กเหล่านั้นที่สักวันหนึ่งต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสังคม “คำถามคือ อนาคตของสังคม” จะเป็นเช่นไร?


 


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

CAPTCHA


Share via
Copy link
Powered by Social Snap