เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “หากอยากเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศใด ให้ลองเรียนภาษาของประเทศนั้น”
ไม่เคยคิดว่าจะเข้าใจคำนี้ จนกระทั่งได้มาทำความรู้จักกับภาษาญี่ปุ่น
Japanese language ภาษาญี่ปุ่น มักจะถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆของภาษาที่เรียนรู้ยากที่สุดในโลก
(Base on English speaker to learn)
สมัยก่อนตอนที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เคยคิดว่า ภาษาอังกฤษยากแล้ว
เมื่อได้มาเรียนภาษาญี่ปุ่น ในตอนเริ่มเรียนแรกๆ เอ้ย ไหวแหวะ ไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอได้เรียนลึกลงไป
เรื่อยๆ ยาก… ยากกว่าที่เคยคิดว่า ภาษาอังกฤษยากซะอีก
เคยลองถามเพื่อนชาวญี่ปุ่น เขาได้บอกว่า สำหรับเขา ภาษาอังกฤษยาก และภาษาญี่ปุ่นง่ายสำหรับเขา
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด หากคุณได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติตั้งแต่เกิด จนกลายเป็นภาษาแม่
ผู้เขียนลองประมวลผลจากองค์ความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่มี และได้ 6 เหตุผลที่ทำให้ภาษาญี่ปุ่นยากสำหรับนักเรียนรู้ชาวต่างชาติ
1 ผัน tense ตามเวลา
ข้อนี้จะเหมือนอังกฤษที่มีการผัน tense รูปอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
2 ผันคำศัพท์ ตามสถานการณ์ หรือ คู่สนทนานั้นๆ
งงมั้ย ข้อนี้จะเป็นเรื่องของการใช้ระดับภาษาพูด ภาษาเพื่อน ภาษาสุภาพ ภาษาทางการ และภาษาสุภาพมาก ในภาษาไทยเราก็จะมีการใช้ครับ ค่ะ หรือภาษาทางการบ้าง แต่ไม่ชัดเจนเท่าภาษาญี่ปุ่น หากในวงสนทนาเดียวกัน มีคนอยู่หลายระดับ การพูดสื่อสารกับคู่สนทนา ต้องผันคำศัพท์ไปตามสถานการณ์ และหรือ คู่สนทนา ณ ขณะนั้น
เช่น คำว่า มา
来る kuru ใช้ในสถานการณ์กับเพื่อนหรือคู่สนทนาที่อาวุโสน้อยกว่า
来ます kimasu ใช้ในสถานการณ์กับทั่วไป เป็นคำสุภาพระดับหนึ่ง
参ります mairimasu เป็นคำว่ามา ที่แสดงความถ่อมตน เมื่อพูดถึงตนเองในกรณีสนทนากับคู่สนทนาที่มีอาวุโสกว่า
お越し okoshi เป็นคำว่า มา ที่ต้องการแสดงการยกย่องคู่สนทนา
3 คันจิ มีเยอะและวิธีการอ่านไม่เหมือนกัน
คันจิ คือ ตัวอักษรจีน ในภาษาญี่ปุ่นจะมีการใช้ตัวหนังสือสามแบบ
- อักษรจีน หรือ คันจิ จะช่วยอธิบายความหมายของคำได้เมื่ออ้างอิงจากความหมายของคันจิ
- ฮิราคะนะ คือ อักษรออกเสียงอ่านสำหรับคำภาษาญี่ปุ่น
- คาตะคะนะ คือ อักษรที่ออกเสียงเหมือน ฮิราคะนะ แต่ในแทนการออกเสียงคำจากภาษาต่างประเทศ
นอกจากอักษรทั้งสามแบบแล้ว เมื่อมารวมกับคำศัพท์คันจิ ซึ่งอักษรหนึ่งตัว อาจจะมีวิธีการออกเสียงต่างกันอีก
ที่เรียกว่า
- 音読み (on’yomi) วิธีอ่านออกเสียงแบบจีน
- 訓読み (kun’yomi) วิธีอ่านออกเสียงแบบญี่ปุ่นฃ
4 หากอยากพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีแบบเจ้าของภาษา ต้องคิดแบบชาวญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่นนั้น มีความลึกซึ้งในการประมวลกระบวนการคิด ที่จะสนทนาออกมาแต่ละคำ
อย่างตัวอย่างข้างต้น คำว่า กิน หรือ รับประทาน ก็สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การพูด
ดังนั้น หากคุณอยากพูดภาษาญี่ปุ่นได้เหมือนคนญี่ปุ่น คุณต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดในสมองให้เหมือนคนญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นจัดว่าเป็นชนชาติที่ให้เกียรติกับมารยาท และความสุภาพมากต่อคู่สนทนาค่อนข้างมาก
ดังนั้น วิธีการแสดงออกทางภาษา ก็จะมีลักษณะของการใช้เกียรติคู่สนทนา หรือผู้อื่นค่อนข้างมาก
คำที่แสดงตัวอย่าง เช่น くれる、貰います、頂きます เป็นต้น
ตัวอย่าง หากต้องการขอบคุณที่เพื่อนมาหา
ภาษาไทย ขอบคุณที่มา
ภาษาอังกฤษ Thanks for coming
ภาษาญี่ปุ่น わざわざ 来てくれてありがとうございます
5 คำเลียนเสียงธรรมชาติ Onomatopoeia
ข้อนี้ข้อปราบเซียนเลยทีเดียว ภาษาญี่ปุ่นมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติค่อนข้างมาก และชัดเจนมาก
ซึ่งถ้าเรารู้คำเหล่านี้น้อย จะทำให้การสนทนากับคู่สนทนาชาวญี่ปุ่นติดๆขัดๆได้
คำเลียนเสียงธรรมชาติในภาษาไทย ก็มีอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น ฝนตกซ่าๆ น้ำหยดกระปิดกระปรอย
แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ภาษาญี่ปุ่น มีการใช้ คำเลียนเสียงธรรมชาติค่อนข้างมาก และไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่จะทำความเข้าใจได้ทั้งหมด หากไม่ได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก
6 ภาษาญี่ปุ่น มีระดับความสุภาพที่ไม่ธรรมดา
อย่างที่อธิบายไปข้างต้น ภาษาสะท้อนวัฒนธรรมและกระบวนการคิดของคนในวัฒนธรรมนั้นๆ
และภาษาญี่ปุ่น เป็นภาษาที่ให้ความสำคัญคำลำดับขั้นของคู่สนทนา ความสุภาพและคำที่จะใช้ใน
การสนทนาก็จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
- ภาษากันเอง ใช้กรณีในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท มักจะลงท้ายคำกริยาด้วย ~る
- ภาษาสุภาพทั่วไป ใช้ในกรณีทั่วไป ไม่ต้องการการทางการมาก แต่ไม่สนิทพอที่จะพูดภาษากันเอง มักจะลงท้ายคำกริยาด้วย ~ます
- ภาษาสุภาพ 敬語: keigo รูปนี้จะใช้คำที่สุภาพมากขึ้นกว่ารูปสุภาพทั่วไป ใช้กรณีที่ทำงาน หรือสถานการณ์ที่พูดกับผู้อาวุโสกว่า
- ภาษายกย่อง 尊敬語 : sonkeigo รูปนี้จะการแสดงคำที่สุภาพและให้เขียนคู่สนทนาอย่างสูง ส่วนใหญ่ใช้กับลูกค้า หรือผู้อาวุโสกว่า
- ภาษาถ่อมตน 謙譲語 : kenjougo รูปนี้จะตรงข้ามกับรูปยกย่อง คือ เมื่อให้เกียรติคู่สนทนาในขณะเดียวกัน ก็แสดงออกโดยการถ่อมตัวเองลงไป เมื่อใช้คู่กับรูปยกย่องจะยิ่งเป็นการแสดงความสุภาพและให้เกียรติอย่างสูงสุด
เขียนครบทั้งหกข้อ ผู้เขียนยังอดทึ่งในภาษาญี่ปุ่นไม่หาย แต่ไม่ว่าภาษานั้นๆจะยากง่ายอย่างไร
การได้เรียนรู้ภาษาที่สนใจ ก็เท่ากับเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาตินั้นๆด้วย และนั่นก็คือกำไรที่เราได้รับ และกำไรนี้จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต
อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ สนุกไปกับมัน และหากเราทำลายกำแพงที่เรียกว่า ‘ยาก’ ได้แล้ว ไม่ว่าภาษาใด มนุษย์ก็สามารถเรียนรู้ได้
Leave a Reply